หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ถัวขาขึ้น VS ถัวขาลง

ต้องย้อนถึงประโยชน์หรือ เหตุผลของแต่ละวิธีกันก่อนในเบื้องต้น
โดยหลักๆแล้ว วิธีการซื้อถัวเป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้การซื้อหุ้นในแต่ละครั้งได้ราคาที่เหมาะสมและเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนในครั้งเดียวนั่นเอง เหมาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ยังไม่ค่อยเจนสังเวียนตลาดหุ้นเท่าใดนัก
วิธีการลงทุนให้มีกำไรในตลาดหุ้นนั้นมี 2 วิธีครับ คือซื้อถูกเอาไปขายแพง (ต่างกับ future) หรือไม่ก็ลงทุนเพื่อรอผลตอบแทนเป็นเงินปันผลออกมาครับ

ถ้าตามหลักการแล้ว การซื้อถัวขาขึ้นจะใช้สำหรับ นักลงทุนแนวเทคนิคครับ เพราะแนวเทคนิคจะถือคติว่า "ซื้อแพงเพื่อไปขายที่แพงกว่า" เมื่อใดที่แนวโน้มเปลี่ยน นั่นคือเวลาขายทำกำไรครับ ดังนั้นสำหรับการถัวขาขึ้นสำหรับนักเทคนิคจึงไม่ค่อยการกลัวการซื้อที่ราคาสูงขึ้นเท่าไหร่ ถ้านับการซื้อถัวแต่ละไม้ของนักเทคนิคแล้วเหมือนกับตั้งจุด safe ขึ้นไปในแต่ละครั้งของราคาที่สูงขึ้นไปนั่นเอง เมื่อถึง safe ใดที่ขาดทุน อาจจะทำกำไรออกมาเลย แต่ถ้าแนวโน้มยังไม่เปลี่ยนก็จะปล่อย let profit run ไปเรื่อยจนกว่าแนวโน้มจะเปลี่ยนครับ

ส่วนการถัวขาลง มักจะใช้กับนักลงทุนแนว VI หรือผู้ที่มองแนวต้านออกอย่างชัดเจน แต่ผมจะเน้นไปทาง VI ภาพจะชัดกว่าและเป็นไปตามหลักของแนว VI นะครับ หลักของแนว VI คือ "ซื้อเมื่อกิจการมีค่า MOS (magin of safety = ส่วนต่างความปลอดภัยของราคา) ที่เหมาะสม" (จริงๆหลักการเค้ายาวกว่านี้เยอะครับ แต่ผมสรุปสั้นๆให้เข้าใจง่าย) หรือซื้อเมื่อเห็นว่ากิจการนั้นมีมูลค่าที่ถูกมากแล้วนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถึงจุดที่เค้าคิดว่าถูกแล้วเมื่อราคาลงอีกก็กล้าซื้อได้อีกครับ เพราะส่วนลึกของชาว VI เชื่อมั่นว่า ราคาหุ้นย่อมต้องวิ่งเข้าหาผลประกอบการที่แท้จริงครับ ก็คือได้ทั้งราคาถูกแถมมีปันผลไม่น้อย จึงไม่ค่อยแปลกใจนักที่ชาว VI ทั้งหลายต้องเป็นนักลงทุนระยะยาวผู้กล้าหาญที่จะลงทุนเมื่อ ตลาดซบเซาถึงที่สุดครับ และก็ไม่ต้องแปลกใจที่ชาว VI จะมีคำกล่าวที่ว่าถ้าไม่สามารถทนเห็น ราคาหุ้น-50% ได้ก็ไม่ควรเป็น VI ครับ (50%ที่ว่านี่ เป็นส่วนกำไรซะส่วนมากนะครับ)

ในจุดนี้ที่ตลาดขึ้นมาสู่สภาวะที่เหมาะสมแก่มูลค่าแล้วผู้ลงทุนก็แทบจะไม่เหลือ MOS กันแล้วการจะถัวขาลง ณ ตลาดที่สูงขนาดนี้จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงครับ เว้นแต่จะมองเห็นแนวรับออกชัดเจนครับ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก และสถานการณ์ ณ ปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้ มี MOS มากมายถึงขนาดให้เราถือยาวอย่างสบายใจได้ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาอาจทำให้เราเสียหายได้ ในขณะที่ผลตอบแทนตลาดก็ลดลงเรื่อยๆตามมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น

จริงๆก็ไม่ได้สนับสนุนทางเทคนิคเต็มตัวนะครับ แต่พูดตามหลักการทั่วไปคือ เมื่อตลาดขึ้นสู่ที่สูง ราคาที่สูงขึ้น ความเสี่ยงก็สูงตาม แต่ผลตอบแทนกลับลดลง หรือถ้าเราคิดว่าเป็นนักลงทุนที่แท้จริงก็ยังมีวิธีสุดคลาสสิค คือ DCA (dollar cost average) ครับ โดยให้เรากำหนดการลงทุนเท่าๆกันเป็นช่วงๆตลอดระยะเวลาที่ลงทุน เช่น เราจะลงทุนในตลาด โดยซื้อหุ้น .... เป็นจำนวนเงิน..... ทุกเดือน เป็นต้น หลักการนี้จะทำให้นักลงทุนไม่ต้องจับจังหวะตลาดใดๆ เพราะการลงทุนแบบนี้ผลการลงทุนในช่วงที่ดีจะมาช่วยเฉลี่ยกับช่วงผลลงทุนที่แย่ได้ ทำให้พอร์ตของเราเติบโตไปตามตลาดได้ แต่ต้องเลือกหุ้นดีๆนะครับ

สุดท้ายนี้ ขอให้เลือกตัดสินใจกันเองครับว่าเราจะเป็นแบบไหน จะซื้อถัวขึ้นหรือถัวลงหรือลงทุนแบบ DCA ไปเลย ไม่ว่าวิธีใดล้วนมีหลักการใช้ของมัน หวังว่าบทความนี้คงทำให้หลายๆเลิกหลงทางบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น